“เที่ยวสบายใจ ไปสบายดี” 3 วัน 2 คืน เลย-หนองคาย-อุดรธานี
อีสานเป็นภาคที่พวกเราไม่ค่อยได้ไปเที่ยวเท่าไหร่ ทั้งๆ ที่ความจริงแล้วมีจังหวัดและสถานที่ท่องเที่ยวที่น่าเที่ยวอยู่ไม่น้อย เมื่อมีโอกาสได้ไปร่วมทริป “เที่ยวสบายใจ ไปสบายดี” ท่องสามจังหวัดอีสานเหนือทั้งที เราก็ออกจะตื่นเต้นไม่น้อยเพราะว่ามีหลายแห่งที่ยังไม่เคยไปมาก่อน จังหวัดที่เราจะไปเที่ยวกันในทริปนี้อยู่ในกลุ่มจังหวัดสบายดี ที่มีชายแดนทิศเหนือติดประเทศลาว และคำว่าสบายดีก็พ้องกับคำว่า สะบายดี ที่แปลว่า สวัสดี ในภาษาลาวด้วย จังหวัดในกลุ่มสบายดีมีทั้งหมด 5 จังหวัด คือ อุดรธานี หนองคาย เลย หนองบัวลำพู บึงกาฬ แต่ด้วยเวลาที่จำกัดทำให้ทริปนี้เราจะไปเที่ยวกันสามจังหวัดคือ เลย หนองคาย และอุดรธานี
วันแรกของทริป เราออกเดินทางแต่เช้าตรู่ด้วยสายการบินนกแอร์มุ่งหน้าสู่จังหวัดเลย นั่งเพลินๆ ยังไม่ทันง่วงก็ถึงท่าอากาศยานจังหวัดเลยแล้ว ใช้เวลาอยู่บนเครื่องแค่ราวๆ 1 ชั่วโมงเท่านั้น ทันทีที่เครื่องแตะรันเวย์ก็เริ่มรู้สึกหิว เพราะฉะนั้นก่อนเที่ยวก็ต้องแวะเติมพลังกันก่อน
ไข่กระทะยามเช้าที่เมืองเลย
มื้อเช้าที่เลยจะมีอะไรเหมาะไปกว่าไข่กระทะ ร้านที่เราฝากท้องกันเช้านี้ชื่อว่า ร้านมะกัน เป็นร้านอาหารเช้าที่เปิดขายมาตั้งแต่ปีพ.ศ. 2518 มีไข่กระทะทอดใหม่ๆ ทานกับขนมปังไส้หมูสับหมูยอ กาแฟโบราณ หรือใครชอบทานข้าวให้หนักท้องหน่อยก็สั่งต้มเลือดหมู+ข้าวเปล่า ร้านเปิดทุกวัน 06.30-11.30 น. มาเที่ยวเลยอย่าลืมแวะชิมล่ะ
ไหว้พระที่ด่านซ้าย
อิ่มท้องแล้วก็ออกเดินทางสู่อำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย จุดแรกที่เรามาแวะก็คือ วัดเนรมิตวิปัสสนา ตัววัดตั้งอยู่บนเนินเขา ห่างจากพระธาตุศรีสองรักไปเพียงเล็กน้อย จุดเด่นของที่นี่คือพระอุโบสถและเจดีย์ภายในวัดที่ก่อสร้างด้วยศิลาแลงทั้งหลัง ภายในพระอุโบสถมีภาพจิตรกรรมที่สวยงามประดับอยู่โดยรอบ มีพระพุทธชินราชจำลองเป็นพระประธาน บริเวณพื้นที่โดยรอบมีการจัดแต่งสวนและต้นไม้ร่มรื่นสวยงาม ควรค่าน่ามาเยี่ยมชมสักครั้ง
กินข้าวข้างนา
จากวัดเนรมิตวิปัสสนาเรามุ่งหน้าสู่อำเภอภูเรือ เพื่อไปแวะทานอาหารกลางวันเคล้าบรรยากาศข้างท้องนา พร้อมวิวภูเขาเขียวๆ ของหน้าฝนที่ ร้านคาเฟ่ ดี มีนา มาถึงร้านเจอโต๊ะอาหารจัดวางพร้อมในปิ่นโต เป็นอาหารพื้นบ้านผักพื้นถิ่นทั้งนั้นเลย ส่วนเครื่องดื่มเป็นน้ำอัญชันกับน้ำตะไคร้ในขันใบน้อย ที่นี่เน้นผักและข้าวออแกนิคที่ปลูกเองและรับจากชาวบ้านในละแวกเดียวกัน อิ่มข้าวแล้วนั่งจิบกาแฟที่โซนร้านกาแฟ อ้อยอิ่งถ่ายรูปเล่นแบบไม่หวั่นแดดเลยเพราะว่าสวยทุกมุมจ้า
ชมโบสถ์ไม้แกะสลัก
พักกันเต็มที่แล้วก็ได้เวลาเดินทางต่อ สถานที่ต่อมาอยู่ไม่ไกลจากร้านคาเฟ่ ดี มีนา ขับรถมาแป๊บเดียวก็ถึง วัดสมเด็จภูเรือมิ่งเมือง อ.ภูเรือ จ.เลย จุดเด่นคืออุโบสถที่สร้างด้วยไม้แกะสลักวิจิตรสวยงาม ศิลปะแบบล้านนาและลาว มีพระนอน นาคหัวบันได ที่แกะจากหินหยกแม่น้ำโขง ตัววัดตั้งอยู่บนเนินเขาสามารถมองเห็นทัศนียภาพอันสวยงามของอำเภอภูเรือ
ชิลชิลริมโขง ชมแก่งคุดคู้
จากอำเภอภูเรือเราออกเดินทางอีกครั้งสู่อำเภอเชียงคาน ในที่สุดก็ลัดเลาะมาจนถึงแก่งคุดคู้ ที่อยู่ห่างจากตัวอำเภอเชียงคานประมาณ 3 กิโลเมตร แก่งคุดคู้เป็นแก่งขนาดใหญ่ที่เกิดจากการทอดตัวของแนวหินลงในแม่น้ำโขง ประกอบด้วยหินก้อนใหญ่ๆ เป็นจำนวนมากกว้างใหญ่เกือบจรดสองฝั่งแม่น้ำโขง มีกระแสน้ำไหลผ่านไปเพียงช่องแคบๆ ใกล้ฝั่งไทย น่าเสียดายมาช่วงนี้เป็นหน้าน้ำเลยไม่ได้เห็นแก่งกลางน้ำอย่างชัดเจน ช่วงที่เหมาะจะมาชมแก่งคุดคู้มากที่สุด คือ เดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนพฤษภาคม แต่ไม่เป็นไรแค่ได้มาเห็นแม่น้ำโขงมองฝั่งตรงข้ามเป็นประเทศลาวแค่นี้ก็ชิลแล้ว ส่วนสายช็อปก็อย่าให้เสียเที่ยวแวะซื้อมะพร้าวแก้ว ของฝากขึ้นชื่อของที่นี่ไปด้วยนะ เพราะมันอร่อยและกินเพลินมากจริงๆ
ปล่อยเวลาให้ช้าลงที่เชียงคาน
จบโปรแกรมเที่ยวของวันนี้ เราเช็คอินเข้าพักที่เชียงคาน เชียงคานวันธรรมดาร้านค้าก็จะเปิดน้อยกว่าวันหยุดที่มีถนนคนเดิน ช่วงเย็นยังไม่ค่อยมีคน ถนนดูโล่งๆ แต่พอค่ำหน่อยก็เริ่มมีนักท่องเที่ยวออกมาเดินเล่นและมีร้านค้าเปิดบ้างประปราย บรรยากาศสบายๆ ไม่ค่อยหนาแน่น หามุมถ่ายรูปง่าย เป็นข้อดีของการเที่ยววันธรรมดาที่เราชอบมาก
มื้อเย็นริมโขง
เดินเล่นไปเรื่อยจนถึง ร้านเฮือนหลวงพระบาง ร้านอาหารที่เชียงคานที่หลายคนรู้จักกันดี ตัวร้านปรับจากบ้านเก่า ชั้นล่างเป็นปูนชั้นบนเป็นไม้ เราดินเนอร์กันที่นี่พร้อมอาหารอร่อยๆ และวิวสวยๆ ของเชียงคานยามเย็น
Facebook : เฮือนหลวงพระบาง
โทร. 089-009-4345
นอนสบายในบ้านไม้เก่า
คืนนี้เราพักกันที่ With a View ที่พักที่ปรับจากบ้านไม้เก่าสองชั้นริมแม่น้ำโขง ด้านหน้าเป็นร้านกาแฟ ชั้นล่างมีห้องพักสองห้อง ชั้นสองมีอีกเจ็ดห้อง แต่ละห้องขนาดค่อนข้างเล็กเนื่องจากเป็นการปรับพื้นที่จากบ้านเก่า แต่สิ่งอำนวนความสะดวกต่างๆ ก็มีครบ
Facebook : With A View Hotel – Chiangkhan
โทร. 042-810-696, 091-058-0185
ตื่นเช้าใส่บาตรข้าวเหนียว
ยามเช้ากับวิถีเชียงคานที่พลาดไม่ได้คือการใส่บาตรข้าวเหนียว ภาพของถนนเส้นเล็กๆ ที่สองข้างทางเป็นบ้านไม้ มีพระออกบิณฑบาตและชาวบ้านที่นั่งรอใส่บาตรอยู่ตามทาง เป็นบรรยากาศน่ารักๆ ของเชียงคานที่ทำให้หลายคนหลงรัก สำหรับชุดใส่บาตร ทางที่พักส่วนมากจะสามารถจัดเตรียมให้ได้ แต่ถ้าเราอยากจะหามาเองก็ได้เช่นกัน
ฟังเรื่องราวชาวไทดำ ชิมอาหารพื้นบ้าน
ชาวไทดำแต่เดิมอพยพหนีสงครามมาจากเวียดนามตอนเหนือเข้ามาอยู่ในไทยกว่า 100 ปี โดยกระจัดกระจายไปตามที่ต่างๆ ที่บ้านนาป่าหนาด อ.เชียงคาน จ.เลย เป็นที่ตั้งของศูนย์วัฒนธรรมไทดำบ้านนาป่าหนาด สามารถติดต่อจองทริปเยี่ยมชมวิถีชีวิตของชาวไทดำในอดีต จำลองแบบบ้านโบราณของชาวไทดำ ชมผังตัวอักษรไทดำที่หาชมได้ยาก รวมไปถึงได้ชิมอาหารท้องถิ่นของชาวไทดำ พร้อมทั้งซื้อหาของฝากฝีมือกลุ่มสตรีสหกรณ์ชาวไทดำ อาทิ ผ้าทอมือ สบู่สมุนไพร ดอกไม้ประดิษฐ์ที่ทำจากไหมพรมหลากสี ติดไม้ติดมือกลับไปในราคาที่ไม่แพงอีกด้วย
สำหรับใครที่สนใจทริปของชุมชนชาวไทดำ ต้องติดต่อจองล่วงหน้ากับ สมาคมอนุรักษ์วัฒนธรรมไทดำ โทร 081 048 2000 (เวลาทำการ : 9.00-21.00)
สกายวอล์คสุดเสียวชมวิวแม่น้ำโขง
อิ่มหนำแล้วก็ล้อหมุนอีกครั้งมุ่งหน้าสู่ อำเภอสังคม จังหวัดหนองคาย ก่อนเข้าที่พักแวะวัดผาตากเสื้อ เก็บภาพ sky walk จุดชมวิวยอดฮิตสักหน่อย มันก็จะเสียวขาเล็กน้อยเพราะว่าพื้นเป็นกระจก เสียดายว่าฝนเริ่มมาเลยมีเวลาค่ายรูปแค่แป๊บเดียว แต่ขนาดฟ้าครึ้มแบบนี้ยังสวยมากๆ เลย สงสัยต้องหาโอกาสมาซ้ำคราวหน้าซะแล้ว
พักผ่อนริมโขงที่อำเภอสังคม
ที่พักคืนที่สองของเราก็ยังคงเป็นที่พักริมแม่น้ำโขงเหมือนคืนแรก ก่อนมาเคยเห็นรูป สังคมริเวอร์วิว รีสอร์ท มาบ้าง ตั้งใจว่ามาถึงแล้วต้องถ่ายรูปรัวๆ เพราะว่าเป็นที่พักริมโขงที่สวยและวิวดีสุดๆ แต่ฟ้าไม่ค่อยเป็นใจ ฝนตกหนักมาก ก็เลยจัดมื้อค่ำกันที่รีสอร์ทแล้วเข้านอน โชคยังดีที่เช้ามาฝนพรำแค่เบาๆ เลยพอได้ภาพสวยๆ มาฝากกันเล็กน้อย
Facebook : สังคมริเวอร์วิวรีสอร์ทแอนด์เรสเตอร์รอง
โทร. 042-441-088
สักการะพระพุทธรูปหินอ่อน
โบกมือลาหนองคายแบบเศร้าๆ ยังอยากอยู่เที่ยวต่อแต่เวลามีน้อยต้องรีบมุ่งหน้าสู่จังหวัดที่สามของทริปคือจังหวัดอุดรธานี ใช้เวลาไม่นานเราก็มาถึง วัดป่าภูก้อน ที่ตั้งอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่านายูงและป่าน้ำโสม ท้องที่บ้านนาคำ ตำบลบ้านก้อง อำเภอนายูง จังหวัดอุดรธานี ตรงนี้เป็นรอยต่อแผ่นดิน 3 จังหวัด คือ อุดรธานี เลย และหนองคาย ความเป็นมาของวัดป่าภูก้อนเกิดขึ้นจากพุทธบริษัทที่ตระหนักถึงคุณประโยชน์ของธรรมชาติและป่าต้นน้ำลำธาร ซึ่งกำลังถูกทำลาย และเพื่อตามรอยพระยุคลบาทพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในการรักษาความสมบูรณ์ของป่าไม้ต้นน้ำลำธาร สัตว์ป่า และพรรณไม้นานาพันธุ์
ล่องแก่งรถอีแต๊ก
ปิดทริปอีสานครั้งนี้ที่บ้านคีรีวงกต จังหวัดอุดรธานี กับการท่องเที่ยวชุมชน+ธรรมชาติ เรียกได้ว่าเป็นไฮไลท์ที่ทุกคนรอคอยเพราะว่ามีจุดเด่นคือล่องแก่งรถอีแต๊กสุดมันที่ตามโปรแกรมแล้วต้องไปถึงน้ำตกแล้วกินกลางวันกันกลางป่า แต่ว่าเรามีเวลาไม่มากพอบวกกับอากาศไม่เป็นใจเจอฝนตก ก็เลยต้องกลับมากินมื้อกลางวันกันที่ที่ทำการท่องเที่ยวคีรีวงกต แม้ว่าบรรยากาศอาหารกลางวันจะไม่เริ่ดเท่ากินข้างน้ำตก แต่ความอร่อยของอาหารบ้านๆ อย่างส้มตำ ไก่ย่าง แกงส้มหยวกกล้วย ก็ไม่ได้ลดน้อยลงเลย ยิ่งได้กินหลังจากล่องแก่งมาเหนื่อยๆ บอกเลยว่ากินเรียบแป๊บเดียวหมด
สำหรับใครที่สนใจอยากไปเที่ยวบ้านคีรีวงกต ที่นี่เขามีทั้งแบบทริปล่องแก่งรถอีแต๊กหนึ่งวันรวมอาหารกลางวัน และแบบนอนโฮมสเตย์ 2 วัน 1 คืน รวมอาหารสามมื้อ ล่องแก่งรถอีแต๊กสองรอบ รอบบ่ายไปเที่ยวน้ำตก และรอบเช้าไปชมวิวพระอาทิตย์ขึ้นยามเช้า ติดต่อสอบถามกับกลุ่มท่องเที่ยวคีรีวงกตได้ที่ โทร. 083-147-9004
3 วัน 2 คืน ผ่านไปอย่างรวดเร็ว เรียกได้ว่าเป็นทริปที่กินเที่ยวจัดเต็มที่ประทับใจมากทริปนึงเลย ขอขอบคุณสำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดอุดรธานี ที่อำนวยความสะดวกตลอดทริป ภาคอีสานบ้านเรานี้มีเสน่ห์จริงๆ สัญญากับตัวเองไว้แล้วว่าจะต้องกลับมาเที่ยวอีกได้ให้เลย