Site icon Let's Check in เช็คอิน กิน เที่ยว

เยือน 4 ชุมชนนวัตวิถี เสน่ห์แห่งบึงกาฬ

ถ้าพูดถึงจังหวัดบึงกาฬ เราก็พอจะรู้ว่านี้คือจังหวัดน้องใหม่ที่แยกออกมาจากจังหวัดหนองคาย แต่ถ้าถามว่า “บึงกาฬมีอะไรเที่ยวบ้าง?” เรากลับนึกแทบไม่ออก จนกระทั่งได้มีโอกาสมาเที่ยวทริปนี้ที่บึงกาฬถึงได้รู้ว่าบึงกาฬมีของดีไม่แพ้จังหวัดอื่นๆ เลย ไม่เชื่อมาดูกันว่า 3 วัน 2 คืนที่จังหวัดบึงกาฬเราได้ไปเที่ยวที่ไหนมาบ้าง

ทริปนี้เราออกเดินทางกันด้วยสายการบิน Thai Lion Air จากสนามบินดอนเมือง ไฟล์ทออกแต่เช้าตรู่ ใช้เวลาราวๆ หนึ่งชั่วโมงก็ถึงจังหวัดอุดรธานี แวะหาอะไรรองท้องยามเช้ากันที่ “ร้านข้าวเปียก” 

ร้านข้าวเปียก อุดรธานี ร้านใหญ่รายการอาหารเยอะมาก ข้าวเปียก ไข่กระทะ โจ๊ก ต้มเลือดหมู ฯลฯ
จัดข้าวเปียกไปหนึ่งชาม รสชาติดี ซี่โครงหมูนุ่ม หมูยอก็อร่อย
ไข่กระทะก็ดีงามไม่แพ้กัน ทานคู่ข้าวจี่ปาเตที่มีไส้เป็นหมูแดง หมูยอ ตับบด แตงดอง ขนมปังกรอบนอกนุ่มในไม่แข็ง ถูกใจมากอิ่มกำลังดี
เที่ยวชุมชนบ้านแสงเจริญ อำเภอศรีวิไล ชิมก้อยหมากลิ้นฟ้า

อิ่มแล้วก็เตรียมตัวเดินทางสู่จังหวัดบึงกาฬ จุดหมายแรกคือ วัดโพธิ์ชัยศรี ชุมชนบ้านแสงเจริญ อำเภอศรีวิไล ประทับใจกันตั้งแต่ก้าวแรกที่ไปถึง เพราะบรรดาพ่อๆ แม่ๆ ที่บ้านแสงเจริญมายืนรอต้อนรับพร้อมมาลัยดอกไม้ แถมยังมีข้าวต้มมัดและน้ำดื่มเย็นๆ ชื่นใจเตรียมไว้ให้ด้วย

ชุมชนบ้านแสงเจริญมีประวัติศาสตร์ยาวนานมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2360 เป็นชาวไทยญ้อที่อพยพย้ายถิ่นมาอยู่ที่ประเทศไทย กินข้าวต้มมัดไป ชมการแสดงของชาวบ้านไป เพลินดีจริงๆ

การแสดงของชาวบ้านแสงเจริญ
ภายในโบสถ์วัดโพธิ์ชัยศรี
กล้วยฉาบ ของดีบ้านแสงเจริญ ทอดใหม่ๆ กรอบอร่อย กินแล้วหยุดไม่ได้

นอกจากข้าวต้มมัดแล้วยังมีกล้วยฉาบทอดร้อนๆ ให้ชิมอีกด้วย เป็นกล้วยน้ำว้าฝานบางทอดจนกรอบ หรือจะใช้กล้วยหอมก็อร่อยไม่แพ้กัน ของดีบ้านแสงเจริญยังไม่หมดแค่นี้ เดินตามชาวบ้านเข้าไปชม ศูนย์วัฒนธรรมเฉลิมราช เป็นที่อนุรักษ์และแลกเปลี่ยนเรียนรู้วัฒนธรรมท้องถิ่น แล้วยังมีสินค้า OTOP ให้ช็อปอีกด้วย

ศูนย์วัฒนธรรมเฉลิมราช วัดโพธิ์ชัยศรี
ของดีของเด่นของชุมชน โมเดลบ้านทรงไทย งานจักสานไม่ไผ่ งานโครเชต์-นิตติ้ง ข้าวแต๋น แหนมเห็ดสุขภาพ
งานสานพลาสติก ไม่ได้ทำได้แค่ตะกร้า กระเป๋านะ อย่างกระด้งชิ้นนี้สวยมาก คือเอามาแขวนผนังตกแต่งบ้านได้แบบเก๋ๆ เลย

เดินช็อปกันหนำใจแล้วก็ได้เวลาอาหารกลางวัน มื้อนี้ฝากท้องไว้กับชุมชนบ้านแสงเจริญนี่แหละ มาเที่ยวชุมชนก็ต้องกินอาหารถิ่น มื้อนี้มีทั้งซุปหัวปลี แกงหน่อไม้ ส้มตำ และเมนูเด็ดที่มาแล้วต้องไม่พลาดก็คือ ก้อยหมากลิ้นฟ้า หรือก้อยเพกา ที่มีส่วนผสมสำคัญคือหมากลิ้นฟ้า ซึ่งเป็นผลไม้ชนิดหนึ่ง นำเอาไปเผาไฟให้นุ่ม แช่น้ำแล้วขูดหั่นบางๆ ใส่มะนาวลงไปลดความขม ใส่หมู ใส่ปลาร้า ปรุงรส คลุกเคล้าให้เข้ากัน อร่อยนัวเลยเชียวล่ะ

มื้อกลางวันอาหารถิ่นที่บ้านแสงเจริญ
ขึ้นบันไดแห่งศรัทธาที่ภูทอก

นอกจากชุมชนบ้านแสงเจริญแล้ว ที่อำเภอศรีวิไลยังมีที่เที่ยวไฮไลต์ของจังหวัดบึงกาฬอยู่ด้วย แถมยังอยู่ใกล้กับบ้านแสงเจริญแค่นิดเดียว ขับรถไปอีกราวๆ สิบห้านาทีก็ถึง ภูทอก หรือวัดเจติยาคีรีวิหาร จุดเด่นของที่นี่คือสะพานไม้ทางเดินที่สามารถชมวิวทิวทัศน์ได้รอบเขาแบบ 360 องศา

ความสวยงามรอเราอยู่ข้างบน แต่กว่าจะขึ้นไปชมได้ต้องวัดใจและพลังขากันเล็กน้อย เพราะทางเดินทั้งหมดมีถึง 7 ชั้น เป็นทางขึ้นเขาที่มีบันไดตลอดทางแต่ระยะทางก็ไม่น้อยเลย จุดที่จะชมวิวได้สวยคือชั้นที่ 5-6 ถ้าขึ้นไปถึงตรงนั้นได้ นอกจากความสวยแล้วยังได้ความเสียวของทางเดินไม้ไต่รอบเขาเป็นของแถมอีก

ทางเดินขึ้นภูทอก ใจสู้รึเปล่า ไหวมั้ยบอกมา
ภูทอก
ดูคลิปเดินขึ้นภูทอก
ธรรมชาติงามที่ภูสิงห์ จุดชมวิวยอดฮิต หินสามวาฬ สร้างร้อยบ่อ

เดินขึ้นภูทอกออกแรงได้เหงื่อกันเล็กน้อยแล้ว แต่โปรแกรมวันนี้ยังไม่จบ ยังมีอีกหนึ่งไฮไลต์รอเราอยู่ที่ภูสิงห์ จากภูทอกขับรถต่อไปอีกราวๆ 40 นาที ก็ถึงป่าสงวนแห่งชาติภูสิงห์ ถ้าใครเคยเห็นภาพหินสามวาฬ หินขนาดใหญ่เรียงตัวกันเหมือนวาฬพ่อ แม่ ลูก ล่ะก็ มาดูได้ที่ภูสิงห์นี่แหละ

เจ้าหน้าที่บรรยายภาพรวมของภูสิงห์ให้ฟังก่อนนั่งรถขึ้นไปชมของจริงกัน

ป่าสงวนแห่งชาติภูสิงห์เป็นพื้นที่ป่าอนุรักษ์มีลักษณะเป็นภูเขาหินทราย การเปลี่ยนแปลงของเปลือกโลก ทำให้เกิดลักษณะทางธรณีวิทยาที่โดดเด่น อย่างเช่น หน้าผา ถ้ำ การเรียงตัวของก้อนหิน กลายเป็นจุดชมวิวที่สวยงาม

การเดินทางขึ้นภูสิงห์ต้องใช้รถโฟร์วิลเท่านั้น เนื่องจากถนนไม่ได้ลาดยาง สามารถติดต่อเช่ารถได้ที่สำนักงานด้านหน้าได้เลย หรือ ติดต่อเจ้าหน้าที่หน่วยป้องกันรักษาป่าได้ที่ โทร. 090-842-5613 และ 085-666-3699

จุดชมวิวถ้ำฤาษี ภูสิงห์ วิวสวยๆ แบบพาโนราม่าเลย
หินสามวาฬ เป็นหินขนาดใหญ่อายุราว 75 ล้านปี ทรงคล้ายวาฬเรียงกันอยู่สามตัว พ่อแม่ลูก
หินวาฬพ่อและวาฬแม่สามารถเดินขึ้นไปชมวิวได้ ส่วนหินวาฬลูกสันหินค่อนข้างเล็กไม่สามารถเดินขึ้นไปได้นะ
หินสามวาฬ ภูสิงห์ บึงกาฬ
หินช้าง อีกหนึ่งจุดชมวิวบนภูสิงห์ เป็นหินรูปเหมือนหัวช้างเลย
เราปิดท้ายภูสิงห์กันที่จุดชมวิวสร้างร้อยบ่อ แปลว่าบ่อน้ำร้อยบ่อ ลักษณะคล้ายสามพันโบกที่อุบลราชธานี แต่ที่นี่อยู่บนหน้าผา ให้ความสวยงามแปลกตาแตกต่าง โดยเฉพาะเวลาเย็นๆ พระอาทิตย์ใกล้ตกแบบนี้ บอกเลยว่าสวยสะกดใจ อยากหยุดเวลาไว้ตรงนั้นนานๆ
สร้างร้อยบ่อ ภูสิงห์ บึงกาฬ
สร้างร้อยบ่อ ภูสิงห์ บึงกาฬ แสงยามเย็นสวยมาก
นั่งดูพระอาทิตย์ตกกันที่นี่ สร้างร้อยบ่อ ภูสิงห์ บึงกาฬ
ดูคลิปภูสิงห์ หินสามวาฬ ส้างร้อยบ่อ
พักผ่อนนอนสบายริมแม่น้ำโขงที่บ้านพักริมดอยรีสอร์ท

เหนื่อยกันมาทั้งวันแล้วได้เวลาเข้าที่พัก คืนแรกเราพักกันที่บ้านพักริมดอยรีสอร์ท อำเภอบุ่งคล้า เป็นที่พักเรียบง่ายแต่สะดวกสบาย แอร์เย็น น้ำอุ่น บรรยากาศดี อยู่ติดริมแม่น้ำโขงด้วย

ติดต่อบ้านพักริมดอยรีสอร์ท โทร.081-965-2429
Facebook : บ้านพักริมดอยรีสอร์ท อ.บุ่งคล้า จ.บึงกาฬ

บ้านพักริมดอย ริมแม่น้ำโขง อำเภอบุ่งคล้า
เที่ยวชุมชนบ้านบุ่งคล้า เสน่ห์ชุมชนริมน้ำโขง

ตื่นเช้ารองทองด้วยข้าวเปียกร้อนๆ ที่บ้านพักริมดอยอร่อยจนอยากจะต่ออีกสักสองสามชาม จากนั้นก็ได้เวลาไปทำความรู้จักกับชุมชนบ้านบุ่งคล้า อำเภอบุ่งคล้า บ้านบุ่งคล้าเป็นชุมชนชาวไทยญ้ออยู่ริมแม่น้ำโขง ยังคงใช้ภาษาญ้อเป็นภาษาถิ่น จุดแรกเราแวะไปที่ศาลาประชาคมเพื่อทำพิธีบายศรีสู่ขวัญและชมสินค้า OTOP ของชุมชนกันก่อน

ผนังด้านหนึ่งของศาลาประชาคม บ้านบุ่งคล้า มีภาพวาดสวยๆ แถมยังมีนายแบบตัวจริงแอ๊คท่าให้ถ่ายรูปด้วย
พิธีบายศรีสู่ขวัญ ที่บ้านบุ่งคล้า
สินค้า OTOP จากฝีมือชาวบ้านบุ่งคล้า เครื่องจักสานต่างๆ ผ้าทอลายสวยงาม
กระเป๋าสานสวยๆ บุหงาดอกไม้แห้ง ปลาร้าก็มี
การแสดงพื้นบ้านรำกลองเลง ชุดไทยญ้อ จากชาวบ้านบุ่งคล้า
สาธิตวิธีทำชาสิรินธรวัลลี ต้นสิรินธรวัลลี หรือ สามสิบสองประดง มีสรรพคุณเป็นยาสมุนไพร ชาวบ้านบุ่งคล้านำมาคั่ว ตากแดด ทำเป็นชาดื่มเพื่อสุขภาพ

จากนั้นก็ได้เวลาลงเรือ นั่งเรือล่องแม่น้ำโขง ชมวิถีชีวิตริมโขง ธรรมชาติฝั่งลาวที่เป็นภูเขาสวย และถ้ามีเวลามากกว่านี้สามารถไปได้ถึงจุดชมแม่น้ำสองสี แต่พอดีเรามีเวลาไม่มากพอก็เลยขอติดไว้ก่อน โอกาสหน้าต้องกลับมาชมแม่น้ำสองสีให้ได้เลย

นั่งเรือล่องโขงที่บ้านบุ่งคล้า
ฝั่งลาวเป็นภูเขาสวยงาม
ริมฝั่งโขง
เรือใหญ่นั่งสบาย
เที่ยวชุมชนบ้านท่าไคร้ ชมเรือกำปั่นโบราณ จุดบั้งไฟถวายหลวงพ่อพระใหญ่

เพลิดเพลินกับการนั่งเรือล่องแม่น้ำโขงแล้วก็ได้เวลาอำลาบ้านบุ่งคล้า จุดหมายถัดไปคือ วัดโพธาราม ชุมชนบ้านท่าไคร้ อำเภอเมืองบึงกาฬ ที่นี่มีของดีน่าชมมากมาย แต่เมื่อมาถึงแล้วก็ต้องทำพิธีบายศรีสู่ขวัญกันก่อน

พิธีบายศรีสู่ขวัญที่บ้านท่าไคร้ อำเภอเมืองบึงกาฬ
ผูกข้อมือรับขวัญ เป็นพิธีน่ารักๆ ที่ทำให้เราประทับใจจริงๆ

เสร็จพิธีแล้วชาวบ้านท่าไคร้ก็ไม่ปล่อยให้เราหิว จัดอาหารท้องถิ่นชุดใหญ่ให้เราเติมพลังกัน มื้อนี้มีทีเด็ดคือลาบน้ำอ้อม ที่ใช้เนื้อปลาน้ำโขงมาทำเป็นลาบรสเด็ด ทานกับข้าวเหนียว ส้มตำ ปลาร้าทอด ชวนเจริญอาหารดีนัก กระซิบเบาๆ ว่าส้มตำชาวบ้านท่าไคร้แซ่บนัวมาก เห็นพวกเราเอร็ดอร่อยกันมากจนดูท่าว่าส้มตำจะไม่พอ แม่ครัวถึงกับรีบวิ่งไปตำเพิ่มมาให้ ก็แหม.. ของเขาอร่อยจริงๆ นี่นา

มื้อกลางวันที่บ้านท่าไคร้ อร่อยทุกอย่างเลย

อิ่มแล้วก็ได้เวลาสักการะหลวงพ่อพระใหญ่ พระคู่บ้านคู่เมืองของจังหวัดบึงกาฬซึ่งประดิษฐานอยู่ในวัดโพธาราม ชุมชนบ้านท่าไคร้นี่เอง ตามตำนานของชาวบ้านท่าไคร้ที่เล่าต่อกันมา หลวงพ่อพระใหญ่ถูกพบอยู่บริเวณนี้ตั้งแต่สมัยที่ชาวบ้านย้ายถิ่นฐานมาตั้งรกรากที่นี่ จึงเป็นที่เคารพของคนในชุมชนเรื่อยมา

หลวงพ่อพระใหญ่

ไหว้พระขอพรแล้วก็เดินไปชมซากเรือกำปั่นโบราณที่ถูกค้นพบบริเวณริมโขงบ้านท่าไคร้ สันนิษฐานว่าเป็นเรือที่ขนสินค้าไปขายที่นครเวียงจันทน์ แต่กลับมาล่มเสียก่อน คาดว่าล่มในปี พ.ศ.2490 หลังจากกู้ซากขึ้นมาได้ ก็นำมาจัดตั้งให้นักท่องเที่ยวเดินชม

ซากเรือกำปั่นโบราณ
ของใช้ที่พบในเรือกำปั่นโบราณ ถูกนำมาจัดแสดงให้ชม

ตื่นตาตื่นใจกับการชมเรือโบราณ เพราะไม่เคยเห็นเรือโบราณถูกนำมาจัดแสดงแบบนี้มาก่อน เสร็จแล้วชาวบ้านท่าไคร้ก็ชวนพวกเราไปจุดบั้งไฟจิ๋วถวายหลวงพ่อพระใหญ่กัน แท่นจุดบั้งไฟจิ๋วถูกทำไว้อย่างดี แค่เราเสียบบั้งไฟเข้าไปที่แท่นแล้วก็จุดไฟ บั้งไฟก็ทะยานขึ้นสู่ฟ้า ถ้าใครจะถ่ายรูปก็ตั้งกล้องรอให้ดีๆ เพราะบั้งไฟวิ่งเร็วมาก

จุดบั้งไฟจิ๋วถวายหลวงพ่อพระใหญ่
จุดบั้งไฟจิ๋วถวายหลวงพ่อพระใหญ่
ปิดท้ายด้วยการช็อปปิ้งอีกเช่นเคย สินค้า OTOP ชุมชนบ้านท่าไคร้
ถ้ายังช็อปไม่หนำใจไปแวะช็อปต่อได้ที่ BUKMEE SHOP บักมี่ชอป อยู่ไม่ไกลจากบ้านท่าไคร้ เป็นร้านขายสินค้าที่ระลึก ผลิตภัณฑ์ชุมชน โดยมีเจ้า “บักมี่” นกเป็ดน้ำ มาสคอตประจำจังหวัดบึงกาฬให้เลือกซื้อหลากหลายรูปแบบ ทั้งเสื้อยืด แก้วน้ำ ตุ๊กตา และอีกมากมาย อยากสอยกลับบ้านให้หมดเลย
ชมสะดือแม่น้ำโขง วัดอาฮงศิลาวาส

ปิดท้ายวันนี้ที่วัดอาฮงศิลาวาส ที่มีไฮไลต์คือจุดชมสะดือแม่น้ำโขง ที่เป็นจุดที่ลึกที่สุดของแม่น้ำโขง มีความลึกกว่า 200 เมตร นอกจากจุดชมสะดือแม่น้ำโขงแล้ว ทิวทัศน์ริมน้ำโขงยังสวยงามมากๆ เก็บภาพสวยๆ ได้อีกเพียบ

สะดือแม่น้ำโขง วัดอาฮงศิลาวาส
วัดอาฮงศิลาวาส
วัดอาฮงศิลาวาส วิวสวยมาก
ภายในบริเวณวัดยังมีพระธาตุเจดีย์ศรีอาฮงให้ได้ไหว้สักการะด้วย
ชมอาทิตย์อัสดง โรงแรมโขงค้ำคูณ

คืนนี้เราเข้าพักกันที่โรงแรมโขงค้ำคูณ อำเภอปากคาด เป็นโรงแรมที่อยู่ติดริมแม่น้ำโขงวิวดีมาก ชาวบ้านแถวนั้นบอกว่าช่วงที่มีบั้งไฟพญานาค ลูกค้าจะเข้าพักแน่นเพราะว่าที่ริมโขงหน้าโรงแรมมีบั้งไฟขึ้นด้วย

โรงแรมโขงค้ำคูณ
ยามเย็นที่โรงแรมโขงค้ำคูณ
สวยมั้ยล่ะ
เที่ยวชุมชนบ้านนาดงน้อย นั่งรถอีแต๊กชมวิถีชุมชน

วันสุดท้ายที่บึงกาฬ เราตรงไปที่ชุมชนบ้านนาดงน้อย อำเภอปากคาด เป็นชุมชนวิถีเกษตร ชาวบ้านส่วนมากยึดอาชีพทำสวนยางพาราและทำนาเป็นหลัก นอกจากนี้อำเภอปากคาดยังขึ้นชื่อเรื่องสวนผลไม้วิถีเกษตรอินทรีย์ ที่ปรับเปลี่ยนจากการทำสวนยางอย่างเดียว แบ่งพื้นที่มาทำสวนผลไม้ผสมผสาน ยึดแนวทางตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

มาถึงบ้านนาดงน้อย ก็ต้องแวะกราบไหว้พระพุทธเจ้าห้าพระองค์ที่วัดใหม่บูรพาสุการามกันก่อน

ที่บ้านนาดงน้อยมีกิจกรรมสนุกๆ สำหรับนักท่องเที่ยว คือการนั่งรถอีแต๊กสัมผัสวิถีชุมชน ระหว่างทางจะผ่านบ้านเรือนของชาวบ้านนาดงน้อย ผ่านแหล่งผลิตสินค้า OTOP ของชุมชน

มัคคุเทศน์น้อยที่จะคอยบรรยายเรื่องราวของชุมชนบ้านนาดงน้อยให้เราฟังระหว่างนั่งรถอีแต๊ก
รถอีแต๊ก มีเก้าอี้วางให้นั่งสบาย แถมหมวกสานปีกกว้างที่ชาวบ้านเตรียมมาให้ก็ช่วยกันแดดได้อย่างดี
เข้าไปในชุมชนกันเลย
ไฮไลต์ของเส้นทางนั่งรถอีแต๊ก ต้องยกให้ทิวทัศน์สวนยางพารา เราไม่รู้มาก่อนเลยว่าภาคอีสานก็มีสวนยางพาราด้วย
ระหว่างทางแวะชมพิพิธภัณฑ์ชาวนา เรียนรู้วีถีชาวนาและถ่ายรูปท้องนาสวยๆ
ช่วงที่เราไปข้าวกำลังออกรวงพอดี ก็จะได้ภาพสวยๆ แบบนี้

นั่งรถเที่ยวจนเหนื่อย กลับเข้ามาที่ศูนย์การเรียนรู้ชุมชน ชาวบ้านจัดเตรียมอาหารกลางวันไว้ อาหารพื้นบ้านกับการแสดงพื้นถิ่นแบบนี้รักเลย

การแสดงจากน้องๆ ชาวบ้านาดงน้อย
สาธิตผลิตสินค้า OTOP
สินค้า OTOP บ้านนาดงน้อย หมอนรองคอ ผ้าห่ม ไข่เค็ม ปลาร้าบองอร่อยมากกกก
อาหารมื้อสุดท้ายที่บึงกาฬ ชาวบ้านนาดงน้อยจัดให้ชุดใหญ่เลย

ทานอาหารเสร็จก็ได้เวลาอำลาจังหวัดบึงกาฬ พ่อๆแม่ๆ ชาวบ้านนาดงน้อยพากันเดินมาส่งถึงรถ แม้จะมีเวลาอยู่ที่นี่แค่ไม่นาน แต่ความน่ารักของชาวบ้านทำให้เรายังไม่อยากกลับเลย

ถึงแม้บึงกาฬอาจจะยังไม่ใช่จังหวัดท่องเที่ยวที่เป็นที่รู้จักมากนักในปัจจุบัน แต่หากได้ลองมาสัมผัสถึงวิถีชีวิต ความเป็นอยู่ของผู้คนที่นี่ ผ่านชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถีแล้วล่ะก็ ไม่แน่ว่าบางที บึงกาฬอาจจะกลายเป็นจุดหมายแห่งใหม่ ที่สร้างความประทับใจจนทำให้ใครๆ ก็อยากกลับมาเที่ยวอีกครั้งเหมือนที่เรารู้สึก ก็เป็นได้

หลงรักบึงกาฬ

ขอขอบคุณ โครงการสื่อสารสร้างการรับรู้ชุมชนท่องเที่ยว (ชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี จังหวัดบึงกาฬ) ภายใต้โครงการไทยนิยม ยั่งยืน 

** สนใจลงรีวิวในเว็บไซต์  letscheckinmag.com ติดต่อได้ทางอีเมล letscheckinmag@gmail.com หรือทาง Facebook : Let’s Check in เรื่องกิน เรื่องเที่ยว

*** บทความนี้เป็นลิขสิทธิ์ของ letscheckinmag.com กรุณาสนับสนุนทีมงานด้วยการแชร์ link กลับมายังเว็บ letscheckinmag.com เท่านั้น ห้ามคัดลอก ทำซ้ำ หรือดัดแปลงส่วนใดไปเผยแพร่โดยไม่ได้รับอนุญาตโดยเด็ดขาด

 

Exit mobile version